วิธีป้องกันภัยน้ำท่วม




การป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือน
         การลดความเสียหายจากน้ำท่วมสามารถทำได้โดยให้น้ำอยู่ห่างจากโครงสร้าง ให้น้ำหมดไปจากโครงสร้าง และให้โครงสร้างอยู่ห่างจากน้ำ การป้องกันน้ำท่วมคือการใช้เทคนิคต่างๆเพื่อป้องกันอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆจากน้ำท่วม หรือเพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วม  ความรุนแรงของน้ำท่วมขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวแปรต่างๆดังต่อไปนี้ ความลึกของน้ำระยะเวลาของการท่วม ความเร็วในการไหลของน้ำ อัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำ ความถี่ของการเกิดน้ำท่วม และระยะเวลาการตกของฝน การป้องกันน้ำท่วมที่ได้ผลจะช่วยลดการซ่อมแซมแก้ไขต่างๆของอาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วม

การป้องกันน้ำท่วมสำหรับอาคารบ้านเรือน

         การพิจารณาจุดอ่อนของอาคารขึ้นอยู่กับลักษณะของอาคารชนิดต่างๆ  รวมถึงความต้านทานต่อแรงดันน้ำ(แรงดันจากน้ำนิ่ง  แรงยกของน้ำและแรงดันจากการไหลของน้ำ) และการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่อจมน้ำ(คุณภาพของปูน,พฤติกรรมของทรายและดินเหนียวใต้ฐานราก)
         อาคารสาธารณะที่ใช้สำหรับเป็นที่พักต้องยกระดับพื้นให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดซึ่งสามารถทำได้โดยก่อสร้างอาคารบนพื้นที่สูงหรือถมดินให้สูงขึ้น หรือสร้างอาคารโดยยกพื้นให้สูงขึ้น ในพื้นที่ที่น้ำไหลการกั้นกระสอบทรายก็อาจช่วยป้องกันตัวอาคารได้
การป้องกันน้ำท่วมสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 
         ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานจากน้ำท่วมอาจมีสาเหตุจากแรงดันน้ำโดยตรงจากการกัดเซาะ หรือจากทั้งสองสาเหตุรวมกัน
ความกว้างของช่องเปิดที่ไม่เพียงพอของแม่น้ำใต้สะพานจะทำให้ระดับน้ำเหนือน้ำสูงขึ้น ท้องน้ำที่จุดเหนือน้ำและท้ายน้ำของสะพานจึงควรเสริมเครื่องป้องกันการกัดเซาะด้วยส่วนมากการป้องกันการกัดเซาะของท้องน้ำจะเสริมท้องน้ำด้วยอิฐ หิน หรือปลูกพืชคลุมดิน
         ความเสียหายของระบบประปาคือการที่น้ำเข้าไปในท่อ ทำให้น้ำมีตะกอนและสารพิษปนเปื้อน ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการวางแนวท่อให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม สำหรับระบบไฟฟ้า ระบบท่อต่างๆ และสายโทรศัพท์ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักการเดียวกัน 


คำแนะนำจากแพทย์


ภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ  หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9พิษณุโลก เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงฤดูฝนนี้บางพื้นที่อาจประสบปัญหามีฝนตกหนัก ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันอาคารบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม เพราะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เช่น ในเขตชุมชนต่าง ๆ หลายแห่ง ในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ใกล้เคียง  การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิดซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ดังนี้ 1) โรคทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์  อาการคือ  ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้  อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร 2) โรคไข้เลือดออก อาการคือ  ไข้สูงลอย  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  หน้าแดง  อาจมีจุดแดงเล็กๆ ตามลำตัว แขน  ขา 3) โรคทางเดินหายใจ  เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม อาการคือ  ครั่นเนื้อครั่นตัว  มีไข้  ปวดศีรษะ  คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร 4) โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส อาการคือ  มีไข้สูงทันทีทันใด  ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา หรือปวดหลัง  บางรายมีอาการตาแดง  มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง  ตาเหลือง  ปัสสาวะน้อย  ซึม  สับสน  และอีกโรคที่มักพบคือน้ำกัดเท้า 5) โรคตาแดง อาการคือ  ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก  หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง อาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้างหนึ่ง  6) อุบัติเหตุและการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย  ได้แก่ ไฟฟ้าดูด จมน้ำ  การบาดเจ็บจากการเหยียบของแหลมหรือของมีคม  อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือน
         เภสัชกรเชิดเกียรติ  กล่าวต่อว่า ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังการดูแลสุขอนามัยมากขึ้นกว่าปกติ  เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคและภัยสุขภาพหลายอย่าง  กรมควบคุมโรค  จึงขอแนะนำวิธี  สี่สอ ป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม” ดังนี้
ส. ที่หนึ่ง        ดื่มน้ำกินอาหารที่สุกสะอาด
ส. ที่สอง        รักษาร่างกาย  มือเท้าให้สะอาด  และอบอุ่น  ไม่ขยี้ตาเมื่อมีฝุ่นหรือน้ำสกปรกเข้าตา  ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด  ไม่ควรลงแช่น้ำที่ท่วมขัง  หากจำเป็นต้องรีบล้างตัวให้สะอาดโดยเร็ว
ส. ที่สาม        ระวังสัตว์มีพิษ  ที่อาจหลบหนีเข้ามาในที่พักอาศัย  เช่น  งู  แมงป่อง  ตะขาบ
ส.ที่สี่             สิ่งแวดล้อม  ปรับปรุงสุขาภิบาลรอบตัวเรา  เน้นการกำจัดขยะ  ถ่ายอุจจาระลงถุง  ตัดวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน   อย่าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงเพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วได้  และให้ระวังการจมน้ำ
          แต่หากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น  และขอให้ประชาชนเคร่งครัดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ



โรคที่มาพร้อมน้ำท่วม

1. โรคฉี่หนู ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย

           อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือแบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต

           การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู หลีกเลี่ยงการเดินอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง การเล่นน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่มักจะสนุกสนานไปกับการย่ำน้ำหรือเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม แต่หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเดิน อย่าแช่น้ำจนผิวหนังเปื่อยเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้าหรือน่อง ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ที่หนีน้ำกัดได้ ส่วนในผู้ที่เริ่มมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่ารอให้อาการหนักเพราะอาจจะรักษาไม่หายและเสียชีวิตก็เป็นได้

          2. อหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และแน่นอนว่าโรคนี้แพร่ระบาดได้โดยการกินและดื่มอาหารที่มีแมลงวันตอมและมีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ รวมทั้งอาหารสุข ๆ ดิบ ๆ ด้วย

           อาการของโรค ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่ไม่เกินวันละ 1 ลิตร อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากติดเชื้อขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดิน อุจจาระมากและมีลักษณะอุจจาระเป็นน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว และอุจจาระได้โดยไม่ปวดท้องและไม่รู้สึกตัว สามารถหายได้ภายใน 2-6 วันหากได้รับเกลือแร่และน้ำชดเชยน้ำที่เสียไป แต่หากได้รับไม่พอดีกับที่เสียไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะมีอาการหมดแรง หน้ามืด อาจช็อคถึงเสียชีวิตได้

           การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รวมถึงรักษาสุขภาพอนามัยด้วยการล้างมือ และภาชนะใส่อาหารให้สะอาดทุกครั้ง แต่ไม่ควรนำน้ำท่วมมาล้าง หรือทำความสะอาดภาชนะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค หรือหากติดเชื้ออหิวาแล้วก็ควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

          3. ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi  ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค แพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

          อาการของโรค เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะไม่แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นท้อง สามารถหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์หลังจากมีอาการแล้ว เพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมได้

         การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไข้ไทฟอยด์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเชื้อโรคทุกชนิด และนั่นหมายถึงว่า ให้ทานอาหารที่สะอาด อยู่ในภาชนะที่สะอาด รวมถึงล้างมือให้สะอาดก่อนทานทุกครั้ง และควรจะหลีกเลี่ยงอาหารจากร้านค้าข้างถนนที่อยู่ในบริเวณที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออีกทางหนึ่งคือฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

          4. โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ และไวรัสตับอักเสบที่มาจากภาวะน้ำท่วม ก็คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ทำให้สุก

           อาการของโรค เมื่อแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดตัวแถวชายโครงขวา และมีปัสสาวะเป็นสีชาแก่ เริ่มมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองในสัปดาห์แรก และจะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์

           การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตับอักเสบ คือ ทานอาหารที่สุกและสะอาด ไม่ใช้แก้วน้ำและช้อนร่วมกับผู้อื่น

          5. ตาแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีบ ไวรัส Chlamydia trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา

           อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนหลายรายต้องขยี้บ่อย หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น และมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา

           การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตาแดง ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช่เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตา ให้รีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

           6. ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็ก มักระบาดในฤดูฝน ที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

           อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร อาเจียนออกมามีสีน้ำตาลปนอยู่ ปวดกล้ามเนื้อ ตัวแดง หรืออาจมีผื่นหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หากเข้าสู่ภาวะวิกฤตผู้ป่วยจะไข้ลด มือเท้าเย็น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อย ทำให้เข้าสู่ภาวะช็อคได้ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

           การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตาแดง พยายามอย่าให้ยุงกัดโดยทากันยุงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอย่าปล่อยให้ภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านมีน้ำขังนานเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้วไม่ควรให้ยุงกัดเพราะจะทำให้แพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิดได้ผ่านยุง





 


ปัญหาและสาเหตุทั่วไปของการเกิดน้ำท่วม

                การพิจารณาในเรื่องการเกิดน้ำท่วมนั้นอาจพิจารณาปัจจัย 2 ประเด็น คือ พิจารณาปัญหาหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม และพิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

2.1. พิจารณาปัญหาหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม แบ่งได้ 3 กรณี คือ จากน้ำฟ้า น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำ และน้ำทะเลหนุน

2.1.1 น้ำท่วมจากน้ำฟ้า (Precipitation) ซึ่งน้ำฟ้าหมายถึงสภาวะของน้ำที่ตกลงมาจากท้องฟ้า อาจจะเป็นลักษณะ ฝน หิมะ ละอองหรือลูกเห็บ โดยทั่วไปแล้วถือว่าฝนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัย และฝนที่มีปริมาณมากจนทำให้เกิดอุทกภัยได้นั้นมาจากพายุฝน ซึ่งแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ

1). พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด
2). พายุหมุนเขตร้อนต่าง ๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ  
2.1) พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
2.2) พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
2.3) พายุไซโคลน (Cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)
2.4) พายุโซนร้อน (Tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
2.5) พายุดีเปรสชัน (Depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก
3). พายุทอร์นาโด (Tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง
2.1.2 น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำ หรือระบบควบคุม (Control System) เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝายทดน้ำ ฯลฯ โดยสาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้น้ำท่วมคือ (1) การระบายน้ำส่วนเกินในปริมาณมาก ทิ้งออกไปเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อแหล่งเก็บกักน้ำดังกล่าว กรณีนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มสองฝั่งลำน้ำด้านท้ายน้ำในลักษณะค่อย ๆ ท่วม และ (2) น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุมดังกล่าว เช่น เขื่อนพัง อ่างเก็บน้ำแตก ประตูระบายน้ำไม่อาจทำหน้าที่ได้ กรณีนี้จะก่อให้เกิดน้ำหลาก มีความรุนแรงมากกว่าน้ำป่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มากกว่าเช่นกัน

2.1.3 น้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน เกิดในพื้นที่อยู่ติดทะเล ลักษณะการท่วมเกิดจากระดับน้ำทะเลยกตัวสูงในช่วงน้ำขึ้นแล้วท่วมพื้นที่โดยตรง กับน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่ลำน้ำ เพิ่มระดับน้ำในลำน้ำที่ระบายน้ำจากลุ่มน้ำตอนบนขึ้นไป สูงขึ้นจนเอ่อออกท่วมพื้นที่สองฝั่ง และเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนดังกล่าว ซึ่งหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วก็จะยิ่งท่วมนานยิ่งขึ้น

2.2 พิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม   การเกิดน้ำท่วมโดยทั่วไปนั้นมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

        2.2.1 การเกิดน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่ม เนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่าง ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนที่ซึมลงสู่ใต้ดิน และ ปริมาณน้ำผิวดินที่ไหลหรือระบายออกจากพื้นที่นั้น ถ้าปริมาณน้ำฝน มากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ซึมลงสู่ใต้ดิน และปริมาณน้ำผิวดินที่ไหลหรือระบายออกจากพื้นที่รวมกัน ก็จะเกิดการท่วมขัง ความรุนแรงของการท่วมขังไม่มากนัก ค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจกินเวลานานกว่าจะระบายน้ำออกได้หมด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำจากพื้นที่เกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
1). การสร้างถนน การวางผังเมืองไม่เหมาะสม สร้างเป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ ขวางทางน้ำไหลหรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ แล้วไม่สร้างอาคารระบายน้ำ เช่น ท่อระบายน้ำ คูหรือคลองระบายน้ำ ที่เหมาะสมเพียงพอกับการระบายน้ำ
2). แผ่นดินทรุด หรือหน้าดินถูกกัดเซาะชะล้าง ทำให้พื้นที่ยิ่งต่ำลงไปกว่าเดิม ทำให้เกิดน้ำท่วมขังมากและนานขึ้น เพราะการระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน
1). ต้องวางผังเมืองให้เหมาะสม รักษาระบบระบายน้ำตามธรรมชาติให้คงไว้เพื่อใช้ระบายน้ำจากพื้นที่ แต่หากมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ ขวางทางน้ำไหลหรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ จะต้องก่อสร้างระบบระบายน้ำทดแทนส่วนที่สูญไป
2)การก่อสร้างถนนจะต้องวางระบบการระบายน้ำ เช่น ท่อลอด สะพาน ที่เหมาะสมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนและขนาด
3). ในพื้นที่ที่มีการทรุดต้องไม่สูบน้ำใต้ดินมาใช้โดยปราศจากการควบคุม ต้องมีการป้องกันการกัดเซาะชะล้างหน้าดินออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้หญ้าแฝก การปลูกพืชคลุมดินเป็นต้น

                2.2.2 การเกิดน้ำป่าบริเวณป่าเขาที่มีความลาดชันสูง การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ปราศจากพืช ต้นไม้ปกคลุมดิน ที่จะช่วยดูดซับน้ำฝนเอาไว้และช่วยปกคลุมยึดผิวดิน ถ้าปริมาณฝนในพื้นที่รับน้ำมีมาก จนทำให้ปริมาณน้ำผิวดินที่ระบายออกจากพื้นที่มีมาก ด้วยอัตราที่รุนแรงเรียกว่า น้ำป่า น้ำก็จะพัดเอาเศษต้นไม้ กิ่งไม้ ตะกอน ดิน ทราย และหินลงมาด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณท้ายน้ำเป็นอย่างมาก อุทกภัยจากน้ำป่ามีความรุนแรงกว่าประเภทแรก และจำเป็นต้องใช้เวลานานในการแก้ไขจนกว่าพื้นที่นั้นจะกลับฟื้นคืนสภาพดังเดิมได้
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
                1). นอกจากไม่ตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ต้องเร่งปลูกต้นไม้ปลูกป่าทดแทนส่วนที่เสียหายถูกทำลายไป
                2). การสร้างระบบป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดินลาดเชิงเขา
                3). สร้างแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ตั้งแต่ฝายแม้ว แหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำให้เก็บกักเอาไว้ ไม่ปล่อยลงมาอย่างทันทีทันใดจนท่วมพื้นที่ตอนล่าง หรือไหลทิ้งออกจากลุ่มน้ำและออกไปสู่ทะเล นอกจากช่วยป้องกันภัยน้ำท่วมแล้วยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ด้วย
               
                2.2.3 น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำ เนื่องจาก  (1) ปริมาณและอัตราน้ำหลากที่เกิดขึ้นในบริเวณต้นน้ำ มีมากเกินกว่าความสามารถของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าวที่จะรับได้  (2) ลำน้ำมีหน้าตัดเล็ก แคบ ตื้นเขิน (3) มีสิ่งกีดขวางในลำน้ำ เช่น ต้นไม้ วัชพืช การปิดกั้นลำน้ำ (4) การมีระบบควบคุมในลำน้ำ  เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำฯ โดยปกติแล้วระบบควบคุมดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยควบคุม ป้องกันและลดความรุนแรงของอุทกภัย แต่หากมีการออกแบบก่อสร้างไม่เหมาะสม หรือมีการบริหารจัดการน้ำไม่ดี ก็จะเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยได้เช่นกัน  ถ้าเป็นลำน้ำแม่น้ำขนาดเล็กและปริมาณของน้ำหลากไม่มากความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดขึ้นจากอุทกภัยอาจไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ปราศจากระบบควบคุมจะก่อให้เกิดความเสียหายมากและเป็นวงกว้าง
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
1). การที่มีฝนตกหนักมากจนเกินความสามารถที่ลำน้ำจะรองรับไว้ได้เป็นเหตุที่ป้องกันได้ถ้ามีการศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำต่างๆ ดีพอ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำ ปรับปรุงขุดลอกลำน้ำ ให้มีความเหมาะสมที่จะรองรับปริมาณฝนสูงสุดที่จะเกิดขึ้นได้
2). การตรวจสอบเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางในลำน้ำทั้งช่วงก่อนฤดูน้ำหลาก และช่วงที่มีน้ำหลากแล้ว
3). การสร้างระบบควบคุมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างฝายทดน้ำในลำน้ำอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยได้ถ้าออกแบบไม่เหมาะสม
4). มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ให้ระบบควบคุมอันได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำฯ ให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยไม่เป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยเสียเอง

        2.2.4 น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุม เช่น เขื่อนพัง อ่างเก็บน้ำแตก ประตูระบายน้ำไม่อาจทำหน้าที่ได้ จะก่อให้เกิดน้ำหลาก มีความรุนแรงมากกว่าน้ำป่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็
มากกว่าเช่นกัน
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
        1). ต้องมีการตรวจสอบสภาพอาคารของระบบควบคุมอย่างเป็นระบบ
        2). ต้องมีการดูแลรักษา ซ่อมแซมและปรับปรุงระบบควบคุมให้มีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความปลอดภัย
        3). ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี วางแผนการเก็บกักน้ำ และการพร่องน้ำระบายน้ำสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่ควรจะเกิด

        2.2.5 น้ำทะเลหนุน โดยระดับน้ำทะเลยกตัวสูงในช่วงน้ำขึ้นแล้วเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งหรือปากอ่าวโดยตรง หรือเกิดน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่ลำน้ำทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อออกท่วมพื้นที่สองฝั่ง ถ้าน้ำในลำน้ำที่ไหลลงมาปะทะมีปริมาณมากและรุนแรง จะเป็นการเพิ่มระดับน้ำด้านเหนือน้ำอย่างมากและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าเป็นตรงจุดคอขวดของลำน้ำแล้วน้ำท่วมจากสาเหตุนี้ก็จะมีความรุนแรง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว สภาพของความเสียหายจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนขึ้นไปซึ่งหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วก็จะยิ่งท่วมนานยิ่งขึ้น
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
                1). ต้องมีระบบควบคุมน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ประตูระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี
                2). การก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อรองรับน้ำที่ระบายจากลุ่มน้ำตอนบนในช่วงน้ำทะเลหนุนไว้ก่อนที่จะระบายออกสู่ทะเล (แก้มลิง)